วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ความสำคัญของวรรณคดี

๑. ความสำคัญของวรรณคดีไทยปัจจุบัน
วรรณคดี วรรณกรรมไทยปัจจุบันและวรรณกรรมท้องถิ่นมีความสำคัญต่อท้องถิ่น
และประเทศชาติ ดังต่อไปนี้
๑.๑ ทางด้านการใช้ภาษา ผู้เขียนหรือผู้เล่าได้แสดงความสามารถทางด้านการใช้
ภาษาในการถ่ายทอดความไพเราะ ความหมายที่ดี ความลึกซึ้งและสืบทอดความรู้สึกนึกคิด ให้ผู้อื่นได้รับรู้แนวคิดของตน ซึ่งมีผล ทำให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดปัญญาหาเหตุผลได้
๑.๒ สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของคน ผู้อ่านหรือผู้ฟังวรรณคดี วรรณกรรมไทยปัจจุบัน และวรรณกรรมท้องถิ่น จะได้รับความรู้เกี่ยวกับความคิด ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของ ท้องถิ่น สังคมและประเทศชาตินั้น ๆ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนและโบราณคดี เช่น วรรณกรรมประเภทนิทาน ตำนาน ประวัติศาสตร์และศิลาจารึก เป็นต้น
๑.๓ สืบทอดและอนุรักษ์วัฒนธรรม การสร้างวรรณกรรมวัฒนธรรมหลายประเภท ทำให้การสืบทอดวัฒนธรรมด้านวัตถุต่าง ๆ เช่น งานช่าง งานฝีมือ การประดิษฐ์อักษร
การมีภาษาเป็นของตนเอง ซึ่งสิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่บอกให้ทราบถึงความเป็นชาติ
เดียวกันเพราะความเป็นชาติจะต้องมีภาษาใช้เป็นภาษาเดียวกันภายในชาติ
๑.๔ เป็นสื่อถ่ายทอดความรู้ กฎ ระเบียบ คำสอน ศีลธรรม โดยใช้วรรณกรรม
ท้องถิ่นให้ผู้รับฟัง ผู้อ่านได้รับรู้และเข้าใจโดยไม่รู้ตัว เช่น วรรณกรรมศาสนา คำสอน ตำนาน หรือวรรณกรรมเบ็ดเตล็ด เป็นต้น
๑.๕ เป็นเครื่องมือสร้างกำลังใจและสร้างศรัทธา ทำให้เกิดความเชื่อมั่น มีกำลังใจ
ได้ เช่น วรรณกรรมที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น มนต์ คาถา บทสวด บททำขวัญ เป็นต้น
๑.๖ เป็นเครื่องมือสร้างความสามัคคี วรรณกรรมท้องถิ่นสามารถสร้างความสามัคคี ของคนในหมู่คณะเดียวกันและประเทศชาติได้ เช่น วรรณกรรมคำสอนต่าง ๆ ยกตัวอย่าง คำสอนเกี่ยวกับการเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ การผูกมิตรของกวีเอกสุนทรภู่ เรื่องนิราศภูเขาทอง กล่าวไว้ว่า

“ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา”

๑.๗ ให้ความจรรโลงใจหลายประการ ดังนี้
๑) ให้ความสนุกสนาน ได้แก่ เพลงต่าง ๆ เช่น เพลงอีแซว เพลงโคราช เป็นต้น
๒) ให้ความรู้ ประเทืองปัญญา เช่น สำนวน ภาษิต คำพังเพยและปริศนาคำทาย เป็นต้น

๒. คุณค่าของวรรณคดีไทยปัจจุบัน
คุณค่าของวรรณคดี วรรณกรรมไทยปัจจุบันและวรรณกรรมท้องถิ่น หมายถึง
ความดีงาม ของงานพูด งานเขียนของนักพูด นักเขียน ซึ่งของวรรณคดี วรรณกรรมไทย
ปัจจุบัน และวรรณกรรมท้องถิ่นมีคุณค่าดังนี้
๒.๑ คุณค่าด้านจริยศาสตร์
จริยศาสตร์ ความประพฤติ การครองชีวิตว่าอะไรดี ชั่ว หรืออะไรถูก ผิด วรรณกรรม ท้องถิ่นจะทำหน้าที่รักษาแบบแผนและความประพฤติ การครองชีวิตของชาวบ้านให้ดำเนิน ไปอย่างถูกต้องตามข้อตกลง กฎ ระเบียบ ประเพณีอันดีงามของสังคม เช่น ผญา และภาษิต เป็นต้น
๒.๒ คุณค่าด้านสุนทรียศาสตร์
สุนทรียศาสตร์ หมายถึง การนิยมความงาม ความไพเราะของถ้อยคำ ภาษาที่ใช้ใน วรรณกรรมท้องถิ่น การใช้คำสัมผัส คล้องจอง ความไพเราะของท่วงทำนอง บทกวี เมื่อฟังหรืออ่าน แล้วเกิดจินตนาการ ความรู้สึกและอารมณ์ วรรณกรรมท้องถิ่นทุกประเภทจะมีคุณค่าทางด้านนี้
๒.๓ คุณค่าทางด้านศาสนา
วรรณกรรมท้องถิ่นเป็นสื่อถ่ายทอดคำสอนและปรัชญาทางศาสนาเผยแพร่ไปสู่
ประชาชน ทำให้ประชาชนมีหลักยึดเหนี่ยวใจ ได้ข้อคิดและมีแนวทางในการดำรงชีวิต
ประพฤติ ปฏิบัติตน เป็นคนดีของสังคม วรรณกรรมที่ให้คุณค่าทางด้านนี้ เช่น นิทานชาดก มหาชาติชาดก เป็นต้น
๒.๔ คุณค่าด้านการศึกษา
วรรณกรรมท้องถิ่นทุกประเภทเป็นสื่อที่ให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ
อย่างมากมาย นอกเหนือจากการให้ความบันเทิงแล้ว เช่น ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ ศาสนา คำสอน ชีวิตความเป็นอยู่ และขนบธรรมเนียมประเพณีของคนในท้องถิ่น เป็นต้น
๒.๕ คุณค่าทางด้านภาษา
วรรณกรรมทุกประเภททั้งงานเขียนและการพูด ต้องใช้ถ้อยคำ ภาษาเป็นสื่อในการ เสนอเรื่อง ดังนั้นจึงมีคุณค่าทางด้านภาษาของคนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึง วัฒนธรรมและวิวัฒนาการด้านภาษาของชาติที่มีภาษาเป็นของตนเอง มีทั้งในด้านความ สละสลวย สวยงามและความไพเราะ ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดต่อไป
๒.๖ คุณค่าด้านเศรษฐศาสตร์
วรรณกรรมท้องถิ่นประเภทคำสอน ภาษิต นิทาน ศาสนา จะให้ความรู้เกี่ยวกับ การเก็บออม การใช้จ่ายอย่างประหยัดและการหารายได้ เป็นต้น นอกจากนี้วรรณกรรมท้องถิ่น ประเภทตำรายา ตำราพยากรณ์ ตำราบทสวด ตำราบททำขวัญในพิธีกรรมต่าง ๆ ยังให้ความรู้ แก่ผู้ที่ศึกษาจริงจัง สามารถนำไปประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ได้อีกด้วย
๒.๗ คุณค่าด้านสังคม
วรรณกรรมท้องถิ่นเป็นสื่อที่ปลูกฝังค่านิยมเรื่องความสามัคคี การดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม แบบพึ่งพาอาศัย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน การมีมนุษยสัมพันธ์ต่อกัน เพื่อความร่มเย็น เป็นสุขของสังคมและท้องถิ่น เช่น วรรณกรรมประเภทคำสอนต่าง ๆ
๒.๘ คุณค่าด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
วรรณกรรมท้องถิ่นประเภทตำนาน หรือนิทานต่าง ๆ ทำให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังได้มีความรู้ เรื่องประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุได้เป็นอย่างดี เช่น เรื่องสามมุก ของ จ.ชลบุรี เป็นต้น
๒.๙ คุณค่าด้านจิตใจ
วรรณกรรมทุกประเภทมักนำเสนอเรื่องราวที่ทำให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังมีความรู้ ความเพลิดเพลินและความบันเทิง ทำให้เกิดความจรรโลงใจ คลี่คลายความทุกข์ได้
๒.๑๐ คุณค่าด้านประโยชน์ใช้สอย
วรรณกรรมท้องถิ่นนอกจากจะมีประโยชน์ด้านต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังให้
ประโยชน์ ด้านใช้สอยด้วย เช่น ตำรารักษาโรคและตำราพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นต้น